เด็กคือผ้าขาว จึงไม่ควรคุยเรื่องเพศ?

เด็กคือผ้าขาว จึงไม่ควรคุยเรื่องเพศ? ชวนอ่านงานวิชาการ ว่าด้วยหนังสือเด็ก กับการเล่าเรื่องการคุกคามทางเพศ

บางคนมักมองว่า เรื่องราวการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ไม่ควรพูดคุยกันอย่างเปิดเผยโดยเฉพาะกับเด็ก

แต่ตอนนี้เมื่อสังคมเปลี่ยนไป ภัยอันตรายรอบตัวเด็กก็มีมากขึ้น การบอกให้เด็กรู้ถึงอันตรายต่างๆ รอบตัวจึงอาจช่วยให้เด็กๆ รู้เท่าทันได้ และหนึ่งในวิธีการที่น่าสนใจ คือการบอกเล่าผ่านหนังสือนิทานสำหรับเด็กนั่นเอง

ในวารสารวิชาการ เรื่อง ‘หนังสือภาพสำหรับเด็กกับการเล่าเรื่องการคุกคามทางเพศ’ ของเกศราพร ทองพุ่มพฤกษา อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ฯ ม.ธรรมศาสตร์ ระบุว่า ในปี 2563 มูลนิธิปวีณาหงสกุลฯ ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์ทั้งสิ้น 10,147 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 2,505 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ มีเด็กแรกเกิด 0 – 5 ปี ถูกข่มขืน 28 ราย เด็กอายุ 5 – 10 ปี ถูกข่มขืน 94 ราย และผู้เสียหายที่อายุน้อยที่สุด คือเด็กหญิงวัย 2 ปี 10 เดือนที่ถูกตาข้างบ้านล่วงละเมิดทางเพศ

จากตัวเลขเหล่านี้ เกศราพรมองว่าไม่ได้เป็นตัวเลขที่สะท้อนภาพความเป็นจริง เพราะเชื่อว่ายังคงมีเด็กอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้แจ้งเรื่องไป ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย

ข่าวเด็กล่าสุด

อีกทั้ง การที่เด็กถูกสอนมาว่า ‘ให้ระวังคนแปลกหน้า’ ก็อาจยิ่งทำให้การคุกคามทางเพศเลวร้ายขึ้นไป เพราะในหลายๆ กรณีคนที่คุกคามเด็กก็คือคนใกล้ตัวเด็ก อย่างคนข้างบ้าน ครู หรือแม้แต่คนในครอบครัวเอง

แล้วเราควรจะทำอย่างไรกันล่ะ? แน่นอนว่าเราควรจะต้องบอกเรื่องราวเหล่านี้กับเด็กเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กถูกคุกคาม ซึ่งเกศราพร ก็มองว่าหนึ่งในสื่อที่เหมาะสมในการบอกเล่าเรื่องนี้กับเด็กก็คือหนังสือนิทานภาพ

“หนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กคือหนึ่งในสื่อที่เข้าถึงเด็กได้ง่าย มันคือโลกจินตนาการที่เตรียมเด็กให้พร้อมที่จะเผชิญโลกความจริง มันคือห้องทดลองสำหรับเด็กในการเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ และพร้อมเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ …แนะนำประสบการณ์ที่ไม่คุ้นเคยให้กับเด็กเล็ก” เกศราพร ระบุในบทความ

รวมไปถึง สื่อหลักของเด็กเล็กที่มักถูกใช้ในการสื่อสารเรื่องราวต่างๆ นั่นคือหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็ก ซึ่งแม้ว่าการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเพศในหนังสือนิทานอาจดูเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย แต่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็แนะนำว่า ยิ่งได้พูดคุยเรื่องเพศกับเด็กเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นเรื่องดี เพราะมันคือการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก เนื่องจากเด็กไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเรื่องไหนควรหรือไม่ควร

โดยเนื้อหาที่จะนำเสนอให้เด็กก็ต้องแตกต่างกันออกไปในแต่ละช่วงวัย เช่น เด็ก 3 – 5 ปี มักสนใจเรื่องสรีระร่างกาย แต่ไม่สามารถเข้าใจอะไรที่ซับซ้อน ส่วนเด็ก 6 – 9 ปี จะเริ่มสนใจเรื่องเพศที่ซับซ้อนขึ้น ถ้าจะสอนเด็กในวัยนี้ก็ต้องอธิบายให้เด็กเห็นภาพชัดเจน

สำหรับการนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศในเด็กนั้น เคยมีการศึกษาที่เห็นว่า เด็กที่เปิดรับหนังสือนิทานภาพที่ป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก ช่วยให้เด็กคนนั้นมีทักษะป้องกันตัวเอง รวมถึงทักษะที่จะปฏิเสธเมื่อมีคนมาขอสัมผัสตัวด้วยเช่นกัน แนะนำข่าวเพิ่มเติม>>> โลกของ ‘อเล็ก ชนกรณ์’ ผลงาน ‘ดิจิทัลอาร์ต’ ของ ‘เด็กพิเศษ’